**************************************************************************

อัซซุนนะฮ السنة

ฮะดีษ ألْحَدِيْسُ

อัซซุนนะฮนั้น เป็นนิติบัญญัติอิสลามอันดับสองรองลงมาจากอัลกุรอาน ท่านร่อซูลซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

تَرَّكْتُ فِيْكُمْ مَاإِنْتَمَسَّكْتُمْ بِهَالَنْ تََضِلُّوْا أَبَدًا كِتَابَ اللّهِ وَسُنَّتِىْ

ความว่า “ฉันได้ทิ้งไว้ในหมู่พวกท่านสิ่งซึ่งถ้าพวกท่านยึดทั้งสองนั้นไว้แล้ว พวกท่านจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาด (คือ) คัมภีร์ของอัลลอฮ และซุนนะฮของฉัน”

คำว่า อัซซุนนะฮ มีความหมายตามศัพท์ภาษาอาหรับว่า หนทาง หรือแนวทาง ตามความหมายดังกล่าวนี้ ก็มี ฮะดีสของท่าน ร่อซูล ฯ ได้กล่าวไว้ว่า

مَنْ سَِِِنَّ فِى الْإسلاَمِ سُنَّةً حَسَنَةً فَلَهُ أَخْرُهَا وَأَجهْرُ مَنْ عَمِلَ بِهَا بَعْدَهُ مِنْ غَيْرِأَنْ يَنْتَقِِصَ مِنْ أَُجُوْرِهِمْ شَيْءٌ ومَنْ سَنَّ فِىالاإِِسْلاَمِ سُنَّةً سَيِّءَةً كَانَ عَلَيْهِ وِزْرُهَا وَوِزْرُ مَنْ عَمِلَ بِهَا مِنْ بَعْدِهِ مِنْ غَيْرِ أَنْ يَنْتَقِصَ مِنْ أَوْزَارِهِمْ شَيْ ءٌ

ความว่า “ผู้ใดได้วางแนวทางในอิสลาม ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีแนวทางหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลตอบแทนในแนวทางนั้น และผลตอบแทนจากผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางนั้นในภายหลังโดยมิได้มีสิ่งหนึ่งสิ่ง ใดจากผลตอบแทนของพวกเขาลดหย่อนไปเลย และถ้าผู้ใดได้วางแนวทางในอิสลามซึ่งเป็นที่เป็นแนวทางที่ชั่วแนวทางหนึ่ง ผลของความชั่ว และของผู้ที่กระทำความชั่วตามเขา ก็จะประสพแก่เขาโดยมิได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากผล แห่งความชั่วนั้นลดหย่อนไปเลย”

รายงานอะดีสโดย มุสลิม อะฮหมัด อัตติรมิซีย และอันนะซาอีย

นอกจากนั้นแล้วคำว่า ซุนนะฮ ยังมีความหมายว่า ธรรมชาติ, ผู้ที่กำความลับแห่งโลกนี้, ฮุก่ม(ข้อตัดสิน)ของอัลลอฮ และการบริหารของพระองค์อีกด้วย ดังพระดำรัสของอัลลอฮที่ว่า

سُنَّةً اللّهِ فِى الَّذِيْنَ خَلَوْا مِنْ قَبْلُ وَلَنْ تَجِدَ لِسُنَّةِ اللّهِ تَبْديلاً

ความว่า “ฮุก่มของอัลลอฮนั้นอยู่ในบรรดาผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก่อนๆ และเจ้าจะไม่พบว่า ฮุก่มของอัลลอฮนั้นมีการเปลี่ยนแปลง” (ซูเราะฮ์อัลอะฮซาบ อายะฮที่ 62)

คำว่า ซุนนะฮ ตามคำนิยามของบรรดานักวิชาการฮะดีส หมายความถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากท่าร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ว่าจะเป็นคำพูด, การกระทำ, การยอมรับ, ชีวประวัติของท่าน, จริยธรรม, มารยาทต่างๆ และข่าวที่เกี่ยวกับท่าน”

คำว่า ซุนนะฮ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ฮะดีส, ค่อบัร, และอะษัร ซึ่งคำที่กล่าวมานี้มีความหมายใกล้เคียงกัน

บรรดานักปราชญ์ได้กล่าว่า “ที่มาของวิชาฮะดีส หรือซุนนะฮนั้น ก็คือ คำพูดของท่านร่อซูลฯ การกระทำ, การนอน, การตื่น, การเคลื่อนไหว, การหยุดนิ่ง, การยืน,ความใจบุญ, การวินิจฉัย, การประกอบอิบาดะฮ, ชีวประวัติ, การส่งกองทัพไปสงคราม,การทำสงคราม, การล้อเล่น, ความอุตสาหะ, คำปราศรัย, การกิน, การดื่ม, การเดิน, การหยอกล้อกับครอบครัว, การฝึกม้า, สาส์นของท่านที่ส่งไปถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม และผู้ที่เป็นมุสลิม, การทำสนธิสัญญา, เอกสาร และลักษณะโดยทั่วไปของท่าน”

ในการนี้ได้มีบรรดาสาวกของท่านทั้งชายและหญิงจำนวน สี่พันกว่าคนที่ได้จดจำและรายงานต่อๆ กันมา ซึ่งพวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับท่านเป็นเวลาประมาณ 23 ปี คือในช่วงที่ท่านพำนักอยู่ใยนนครมักกะฮก่อนอพยพ และที่นครมะดีนะฮหลังอพยพ โดยที่พวกเขาได้จดจำเรื่องที่เกี่ยวกับ ฮุก่มทางศาสนา, เรื่องที่เกี่ยวกับ อิบาดะฮ, สิ่งที่ฮะล้าล(เป็นที่อนุมัติ), สิ่งที่ฮะรอม(เป็นที่ต้องห้าม) แล้วพวกเขาได้นำมาปฏิบัติใช้เป็นตัวบท และแบบอย่างในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ เหตุการณ์ได้ดำเนินไปอย่างนั้นตลอดสมัยของพวกเขา และในสมัยตาบีอีนในเวลาต่อมา จนกระทั่งถึงสมัยที่เริ่มมีการบันทึกฮะดีษ

ألْحَدِيْسُ الْقُدْسِيَّةُ

ฮะดีษกุดซีย์

ฮะดีษกุดซีย์ คือ ฮะดีษที่ท่านร่อซูลุลลอฮฯ ได้พูดออกมาโดยกล่าวพาดพิงถึง อัลลอฮ เรียกว่า ฮะดีษกุดซีย์ หรือ

ฮะดีษอิลาฮีย์ ฮะดีษกุดซีย์นั้นมีมากมาย ได้มีนักวิชาการบางท่านได้รวบรวมบันทึกไว้เป็นเล่มโดยเฉพาะ

คำว่า กุดซีย์ นั้นมีความหมายว่า สะอาด บริสุทธิ์ คำว่า อิลาฮีย์ แปลว่าแห่งพระเจ้า เพราะฮะดีษประเภทนี้ ได้ออกมาจากอัลลอฮ ผู้ทรงเดชานุภาพและสูงส่งโดยที่พระองค์ทรงตรัสเอง ส่วนที่เรียกว่า ฮะดีษนั้น ก็เพราะว่าท่านร่อซูลุลลอฮฯ ได้เป็นผู้ที่เล่าตามนั้น ซึ่งต่างกับอัลกุรอาน

ในการรายงานฮะดีษกุดซีย์ มักจะมีสำนวนการรายงานโดยเฉพาะ เช่น

< قَالَ رَسُوْلُ اللّهِ صلًىاللّهُ علَيْهِ وَسَلَّمَ > فِيْ مَايَرْوِيْهِ عَنْ رَبِّهِ تَعَالَى

ความว่า… ท่านร่อซูลลุลลอฮฯ ได้กล่าว โดยได้รายงาน มาจากพระผู้อภิบาลของของท่าน ผู้ทรงสุงส่งว่า…

ข้อแตกต่างระหว่างฮะดีษ กุดซีย(ألْقُدْسِيَّةُ)และฮะดีษ นะบะวีย์(ألْنَبَوِيَّةَ)

สำหรับข้อแตกต่างนั้นพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้ คือ

– ฮะดีษนะบะวีย์นั้น ได้เล่าโดยท่านร่อซูลลุลลอฮ และเกี่ยวข้องกับท่านร่อซูลโดยเฉพาะ

– ส่วนฮะดีษกุดซีย์นั้น ได้เล่าโดยท่านร่อซูล แต่ได้กล่าวพาดพิงไปถึงอัลลอฮ ดังสำนวนที่ได้กล่าวมาแล้ว

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาดูให้ดีแล้ว ฮะดีษทั้งสองประเภทนั้นก็มาจากอัลลอฮทั้งสิ้น เพราะว่าอัลลอฮ ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ อัลนัจมฺ อายะฮที่3-4 ว่า …

وَمَايَنْطِقُ عَنِِ الْهَوَى <> إنْ هُوَ إلاَّوَحْيٌ يُوْحَى

ความว่า… “และเขา(มุฮัมหมัด) มิได้พูดตามอารมณ์ ความจริงแล้วมันมิใช่อื่นใดนอกเสียจากเป็น วะฮยุ(คำสั่งใช้จากอัลลอฮ)ที่ได้ถูกประทานมา”

ท่านร่อซุลลุลลอฮฯ ได้กล่าวไว้ว่า…

ألاَ إنِّيْ أُوْتِيْتُ الْكِتَابَ وَمِثْلَهُ مَعَهُ

ความว่า… “พึงทราบเถิดว่า ฉันได้รับคัมภีร์มา และที่เหมือนกับคัมภีร์มาพร้อมกับคัมภีร์ด้วย”

ตัวอย่าง ฮะดีษกุดซีย์

– อะบูฮุร็อยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุ ได้รายงานมาจากท่าน ร่อซูลลุลลอฮฯ ได้กล่าวว่า. อัลลอฮ ตะอาลา ได้กล่าวว่า…

ثَلاَثَةٌ أَنَا خَصْمُهُمْ يَوْمَالْقِيَامَةِ ، وَمَنْ كُنْتُ خَصْمَهُ رَجُلٌ أَعْطَى بِى ثُمَّ غَدَرَ،

وَرَجُلٌ بَاعَ حُرًّافَأَكَلَ ثَمَنَهُ ، وَرَجُلٌ إِستَأْجَرَ أَجِيْرًا فَاسْتَوْ فَى مِنْهُ وَلَمْ يُوَفِّهِ

أَجْرَهُ

ความ ว่า… “สามประเภทด้วยกันที่ข้าเป็นปฏิปักษ์กับพวกเขาในวันกิยามะฮ และถ้าผู้ใดที่ข้าเป็นปฏิปักษ์กับเขา ข้าต้องเอาเรื่องแก่เขาแน่(คือ) ชายคนหนึ่งที่ได้ให้สัญญาไว้ในนามของข้าหลังจากนั้นเขาก็บิดพลิ้ว, ชายคนหนึ่งได้ขายคน แล้วก็เอารายได้นั้นมาใช้จ่าย และชายคนหนึ่งได้ว่าจ้างคนงานมาทำงาน เขาได้ทำงานจนเสร็จสมบูรณ์ แต่ผู้จ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่เขา”

– ฮะดีษที่รายงานโดยอะบีซัรรฺ อัลฆิฟารียฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานมาจากท่านร่อซูลุลลอฮฯ โดยได้รายงานมาจากพระผู้อภิบาลของท่าน ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเดชานุภาพได้กล่าวว่า…

يَا عِبَادِيْ إِنِّيْ حَرَّمْتُالظُّلْمَ عَلَى نَفْسِى وَجَعَلْتُهُ بَيْنَكُمْ مُحَرَّمًافَلَا تَظَالَمُوْا

ความว่า… “โอ้บ่าวของข้า ความจริงข้าได้ห้ามการอธรรมสำหรับตัวของข้า ข้าได้กำหนดให้มันเป็นที่ต้องห้ามระหว่างพวกเจ้าทั้งมวล ดังนั้นพวกเจ้าอย่าได้อธรรมซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างฮะดีษนะบะวีย์

ซะฮลุบนุฮะนีฟ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า แท้จริงร่อซูลุลลอฮฯได้กล่าวว่า…

مَنْ سَأَلَ اللَهَ تَعَالَىالشَّهَادَةَ بِصِدْ قٍ بَلَغَهُ ا للَهُ مَنَازِلَ الشُّهَدَاءِ وَإِنَّ مَاتَ عَلَىفِرَاشِهِ

ความ ว่า… “ผู้ใดได้ขอความยืนยันต่ออัลลอฮ ด้วยความจริงใจ อัลลอฮจะให้เขาบรรลุถึงตำแหน่งของผู้ที่ตายชะฮีด ถึงแม้ว่าเขาได้ตายอยู่บนที่นอนของเขาก็ตาม”

ฮะดีษนะบะวีย์นั้นมีจำนวนมากซึ่งจะหาดูได้ในหนังสือฮะดีษที่มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือสุนันทั้งหก(ชื่อหนังสือที่มีการรายงานเกี่ยวกับฮะ ดีษต่างๆ)

คำนิยามที่เกี่ยวกับฮะดีษ

1. ฮะดีษศ่อฮียฮ์ คือฮะดีษที่มีสยรายงานต่อเนื่องโดย ได้รายงานมาจากผู้ที่มี ความจำดีสู่ผู้ที่มีความจำดี ไปจนสุดสายรายงาน ไม่เป็นฮะดีษที่มีผู้รายงานน้อย และไม่เป็นฮะดีษที่มีข้อบกพร่อง

2. ฮะดีษฮะซัน คือฮะดีษที่มีสายรายงานต่อเนื่องกันโดยได้รายงานมาจากผู้ที่ มีความจำพอใช้ สู่ผู้ที่มีความจำพอใช้ ไม่เป็นฮะดีษที่มีผู้รายงานน้อย และไม่เป็นฮะดีษที่มีข้อบกพร่อง ฮะดีษฮะซันนี้ อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับ ฮะดีษศ่อฮียฮ์ มากในการอ้างหลักฐาน และนำมาปฏิบัติ เพราะมีเงื่อนไขเป็นที่ยอมรับ แต่ที่ด้อยกว่าก็เนื่องมาจากความจดจำของผู้รายงานด้อยกว่าผู้รายงานฮะดีษศ่อ ฮียฮ์ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการบางกลุ่มจึงได้บรรจุฮะดีษประเภทนี้ไว้ในหนังสือศ่อ ฮียฮ์ ถึงแม้ว่าตำแหน่งฐานะ จะไม่ทัดเทียมกันที่เดียว

3. ฮะดีษฎ้ออีฟ คือฮะดีษที่สายรายงานไม่อยู่ในขอบข่ายของฮะดีษศ่อฮียฮ์ และฮะดีษฮะซัน ฮะดีษประเภทนี้มีระดับ และมีชื่อต่างๆ กันไป นักปราชญบางท่านมีความเห็นว่า อนุญาตให้นำเอาฮะดีษประเภทนี้มาใช้ได้ในการตักเตือน, ประกอบการการเล่าเรื่อง และแนะนำเกี่ยวกับการงานที่ดีๆ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในด้านเกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮ(อะกีดะฮ์ หรือ หลักความเชื่อความศรัทธา) และในการชี้ขาด ตัดสินปัญหาในเรื่องฮะล้าล และฮะรอม(อิบาดะฮ หรือ การเคารพภักดี)

4. ฮะดีษมัรฟั๊วอ์ คือฮะดีษที่มีสายรายงานเล่าไปถึงท่านร่อซูลุลลอฮฯโดยไม่ขาดตอน นักวิชาการบางท่านได้ให้คำนิยามว่า คือคำที่บรรดาศ่อฮาบะฮ์ ได้บอกเล่าถึงคำพูดและการกระทำของท่านร่อซูลุลลอฮฯ

5. ฮะดีษฆ่อรีบ คือฮะดีษที่ได้รายงานโดยผู้รายงานเพียงคนเดียว หรือมีการรายงานเพิ่มที่ตัวบท ฮะดีษฆ่อรีบนี้ ยังแบ่งเป็น ฮะดีษศ่อฮียฮ์ และอื่นๆ และแบ่งเป็น ฆ่อรีบทางด้านตัวบท และฆ่อรีบในด้านสายรายงาน เช่น ฮะดีษที่มีกลุ่มผู้รายงานกลุ่มหนึ่ง แต่ในสายรายงานช่วงหนึ่งมีสาวกรายงานเพียงคนเดียว ในกรณีเช่นนี้ อิหม่ามอัตติรมีซีย ได้กล่าวไว้ว่าเป็นฮะดีษ “ฆ่อรีบฟีฮาซัลวัจญฮิ”

6. ฮะดีษเมากู๊ฟ  คือฮะดีษที่มีสายรายงานไปสุดที่ศ่อฮาบะฮ์(ศิษย์ร่อซูลฯ)

7. ฮะดีษมุรซัล   คือฮะดีษที่มีสายรายงานไปสุดที่ตาบีอีน(หลานศิษย์ร่อซูลฯ)

8. ฮะดีษเมาฎั๊วอ์ คือฮะดีษที่มีผู้กุขึ้น(โกหก) แล้วอ้างว่าเป็นคำพูดหรือการกระทำที่มาจากท่านร่อซูลุลลอฮฯ ฮะดีษประเภทนี้ ถือว่าเป็นฮะดีษที่อันตรายมากที่สุด ห้ามนำมาเป็นรายงาน หรือเป็นหลักฐานโดยเด็ดขาด

9. ฮะดีษฮะซันศ่อฮียฮ์ คือฮะดีษที่มีสายรายงานสองสาย สายหนึ่งศ่อฮียฮ์ อีกสายหนึ่งฮะซัน จึงได้เรียกฮะดีษประเภทนี้ว่า “ฮะดีษฮะซันศ่อฮีย์” นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า คือฮะดีษที่มีสายรายงานเดียว แต่สงสัยว่าเป็นสายรายงานที่ศ่อฮียฮ์ หรือฮะซัน จึงได้เรียกชื่อไว้ด้วยกัน

10. อัลมุสนัต คือฮะดีษที่มีสายรายงานต่อเนื่องกันไปจนถึงท่านร่อซูลุลลอฮฯ

11. อัลค่อบัร เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า “ฮะดีษ” นักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ว่า อัลค่อบัร นั้นมีความหมายกว้างกว่าคำว่า ฮะดีษ เพราะมีความหมายคลุมไปถึงสิ่งที่มาจาก ท่านร่อซูลุลลอฮฯ และจากผู้อื่นด้วย

12. อัลอะษัร คือฮะดีษที่มีสายรายงานไปสุดที่ ศ่อฮาบะฮ์ แต่นักวิชาการบางท่านเห็นว่าเห็นว่า เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า ฮะดีษ

13. อัซซุนนะฮ์ เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกับ ฮะดีษ คือหมายความถึงคำพูด การกระทำ การยอมรับ ตลอดจนคุณลักษณะของท่าร่อซูลุลลอฮ ซ็อลลอลลอฮุอัลัยฮิวะซัลลัม

โดย ดร. อับดุลลอฮ มะฮมูด ชะฮาต๊ะฮ์  เรียบเรียง

อาจารย์ชากีรีน บุญมาเลิศ  แปล

ใส่ความเห็น